top of page

กรดไหลย้อน


กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องและการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสภาพสังคมปัจจุบัน หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ แม้โอกาสเกิดจะไม่มากนักก็ตาม

อาการของกรดไหลย้อน

ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนจะรู้สึกจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณอกบ่อยครั้ง มีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไปจนถึงกลืนอาหารได้ลำบาก ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง รู้สึกระคายเคืองคอตลอดเวลา เสียงแหบแห้ง หรือฟันผุ

สาเหตุของกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter - LES) ทำให้กรดหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหารจนสร้างความระคายเคืองกับผนังของหลอดอาหาร นอกจากนี้พฤติกรรมในชีวิตประจำวันหรือโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว เป็นโรคอ้วน อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

การรักษาอาการกรดไหลย้อน

การปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ เช่น รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ฯลฯ แต่ในบางราย แพทย์อาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาในกลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด เพื่อช่วยลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร อาจเป็นอีกทางเลือกของผู้ป่วยในการป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปด้านบนอย่างผิดปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อน

ภาวะกรดไหลย้อนมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากฤทธิ์ของกรดได้สร้างความระคายเคืองแก่หลอดอาหารไปถึงอวัยวะบริเวณทางเดินหายใจ ทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก รู้สึกเจ็บ หรือมีเลือดออกในหลอดอาหาร รวมทั้งอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบตัน อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด ไอเรื้อรัง อีกทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร เนื่องจากเกิดการอักเสบกับเซลล์บริเวณหลอดอาหารบ่อยขึ้น แต่ในปัจจุบันยังคงพบได้น้อยราย

การป้องกันอาการกรดไหลย้อน

ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยในชีวิตประจำวันที่ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้มากที่สุด รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนให้น้อยลงได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อน

  • น้ำหนักเกินหรือมีภาวะโรคอ้วน - คนที่มีปัญหาเรื่องน้ำเกินควรระวังเป็นพิเศษเนื่องจาก น้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้เกิดความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นและกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างอ่อนแอ

  • การรับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป หรืออาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน - การรับประทานอาหารในปริมาณมากหรือไขมันสูง จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้นและหลั่งกรดออกมาในปริมาณมาก เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ปริมาณกรดที่มากกว่าปกติอาจทำให้เกิดการไหลย้อนกลับในหลอดอาหารได้

  • การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และช็อกโกแลต - เป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารส่วนปลายเกิดการหย่อนได้ อีกทั้งยังกระะตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น

  • การตั้งครรภ์ - การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในผู้หญิงตั้งครรภ์ และความดันในช่องท้องที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ก็สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้

  • โรคไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatus Hernia) - โรคไส้เลื่อนส่งผลให้เกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารบางส่วนเข้าไปในช่องอก ทำให้เกิดความดันในช่องท้องที่เพิ่มมากขึ้น

  • ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า (Gastroparesis) - ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารต้องใช้เวลานานขึ้นในการย่อยอาหาร ซึ่งหมายถึงการหลั่งกรดที่มากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการไหลย้อนของกรดได้

  • การรับประทานยา - ยาบางชนิดสามารถออกฤทธิ์ให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างให้คลายตัวมากขึ้น เช่น ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blocker) ที่ช่วยรักษาภาวะความดันเลือดสูง ยาไนเตรท (Nitrate) รักษาอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina) หรือยาในกลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs)

  • ปัจจัยอื่น เช่น ความเครียดหรือพันธุกรรม


กระทู้แนะนำ
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
โพสต์ล่าสุด
โพสต์เก่า
ค้นหาตามแท็ก
No tags yet.
ติดตามเราได้ที่
  • Grey Instagram Icon
  • Facebook Basic Square
bottom of page